โครงการรำเซิ้งไทยห่างไกลโรค

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนางานประจำสู่การวิจัย“R2R ”

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ

เรื่อง การพัฒนางานประจำสู่การวิจัย“R2R

วันที่ 19 – 20  กุมภาพันธ์  2557

หลักการและเหตุผล

การพัฒนางานประจำสู่การวิจัย(Routine to research: R2R) เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการพยาบาลทั้งในด้านบริการและด้านการศึกษา ในการสังเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานประจำที่ปฏิบัติพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า R2R เป็นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาคุณภาพการทำงานและการวิจัยที่เน้น               การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ โดยมี 4 ส่วนหลักที่สำคัญ คือ 1) คำถามต้องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้น 2) คนทำวิจัยต้องเป็นคนที่กำลังเผชิญปัญหา 3) ผลลัพธ์ที่ได้คือปัญหาได้รับการแก้ไขและเกิดการบริการที่ดีขึ้นและ 4) สามารถนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง ที่ผ่านมา การพัฒนางานประจำให้เกิดเป็นงานวิจัยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหน่วยงานและองค์การต่างๆ เนื่องจากบุคลากรคิดว่างานวิจัยเป็นงานที่ต้องทำโดยนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูง รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับระเบียบวิธีการวิจัยเป็นสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อน จึงทำให้เกิดความกังวลไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาต่างๆเพื่อให้เกิดคุณภาพด้วยการทำวิจัย จึงทำให้การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในงานประจำไม่ได้นำมาพัฒนาต่อยอดไปเป็นงานวิจัย     จึงขาดโอกาสการพัฒนาคุณภาพงานด้วย Evidence base จากการวิจัยและขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในการวิจัยและการนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์และเผยแพร่ในวงกว้าง

ศูนย์ศึกษาต่อเนื่องและงานวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จึงได้จัดโครงการจัดประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนางานประจำสู่การวิจัย โดยมุ่งเน้นพยาบาลวิชาชีพ คณาจารย์ นักวิชาการสาธารณสุขและบุคลากรสายสนับสนุนที่สนใจ เพื่อให้ สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานที่ตนเองปฏิบัติเป็นประจำและสามารถต่อยอดเป็นงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพละสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการที่ต้องการได้

 

2. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยเบื้องต้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้

2.2 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความสามารถในการสังเคราะห์ปัญหาจากงานประจำและพัฒนาเป็นงานวิจัยได้

2.3 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แนวทางในการปรับปรุงและพัฒนางานประจำของตนเองสู่งานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.4 เพื่อสร้างเครือข่าย การพัฒนางานประจำสู่การวิจัย“R2R ” และเครือข่ายการบริการวิชาการ

3. ตัวชี้วัดความสำเร็จ

เชิงปริมาณ

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการ      จำนวน  100  คน

2. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจ  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

เชิงคุณภาพ

1. ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

 

4. กลุ่มเป้าหมาย/ผู้เข้าร่วมประชุม     จำนวน 100 คน  ประกอบด้วย

4.1 พยาบาลพี่เลี้ยงในแหล่งฝึกของ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ           จำนวน 25 คน

4.2  อาจารย์พยาบาลและบุคลากรสายสนับสนุน คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัย            ราชภัฏชัยภูมิ จำนวน  36 คน

4.3 อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน  มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ  จำนวน  19  คน

4.4 ศิษย์เก่า คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ  จำนวน  20  คน

 

5. ระยะเวลาดำเนินการ (ระบุวัน/เดือน/ปี)

วันที่ 19 – 20  กุมภาพันธ์  2557

 

6. สถานที่ดำเนินงาน

ห้องประชุมพระยาภักดีชุมพล 1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

 

7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

7.1 พยาบาลพี่เลี้ยงในแหล่งฝึก ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิด ปรัชญา R2R และทักษะในการพัฒนางานประจำให้เกิด R2R ในหน่วยงาน องค์กรและเครือข่าย R2R ได้

7.2 อาจารย์พยาบาล อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ R2R และพร้อมนำความรู้ไปพัฒนางานสู่การวิจัยที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการ

7.3 เกิดเครือข่ายการวิจัย R2R และเครือข่ายวิชาการทั้งในและนอกสถาบัน

 

…………………………………………………..

 

โครงการอบรมเชิงวิชาการ เรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน

 [gmedia id=2]

โครงการอบรมเชิงวิชาการ เรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน

ชื่อหัวหน้าและชื่อผู้ดำเนินการ

๑ ชื่อหัวหน้าส่วนราชการ  นางวงเดือน   ฦๅชา

๒ ชื่อผู้ดำเนินการโครงการ นางสุชัญญา   เบญจวัฒนานนท์ และดร.ภัทรา จุลวรรณา

หลักการและเหตุผล

โรคเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรและเป็นสาเหตุการตาย ๑๐ อันดับแรก โรคเรื้อรังที่พบมาก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคมะเร็ง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการสาธารณสุข วิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยี ตลอดจนบุคลากรทีมสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย  ซึ่งการดูแลที่มีประสิทธิภาพต้องการทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary Team) ที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งต้องมีการเพิ่มสมรรถนะและส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และการจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังต่อเนื่องจากสถานบริการสู่ชุมชน

พยาบาลเป็นบุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้จัดการ การดูแลผู้ป่วยซึ่งต้องมีความสามารถในการปฏิบัติพยาบาลในสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ  เป็นผู้นำในการตัดสินใจ รวมทั้งต้องมีการสื่อสารและมีการประสานงานที่ดีเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างมีคุณภาพ

ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลชัยภูมิ  และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดประชุมวิชาการ เรื่อง การเพิ่มสมรรถนะการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อให้พยาบาลและบุคลากรด้านสุขภาพได้เรียนรู้แนวคิด วิธีประยุกต์การส่งเสริมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน และการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน  และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านในวิถีชุมชน ได้อย่างมีคุณภาพ

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการประยุกต์การส่งเสริมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน

๒. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมสมรรถนะผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน

๓. เพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน

๔. เพื่อประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน

วิธีการดำเนินงาน

๑. ประชุมคณะกรรมการ เพื่อวางแผนการทำงานและเตรียมความพร้อมก่อนดำเนิน โครงการ

๒. จัดทำโครงการและขออนุมัติโครงการ

๓. ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง และประชุมชี้แจงการดำเนินการจัดทำโครงการ

๔.จัดประชุมวิชาการตามกำหนดการ

๕. สรุปและประเมินผลการดำเนินโครงการ

 วิทยากร / ผู้สอน

โรงพยาบาลชัยภูมิ อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

               คุณสุชัญญา   เบญจวัฒนานนท์

               คุณกาญจนา    เปสี

โรงพยาบาลภูเขียว        อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

               คุณวรางคณา   เร่งไพบูลย์วงษ์

โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลกุดตุ้ม  อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

คุณอภิญญารักษ์    สมองดี

คณะพยาบาลศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์

ดร.ภัทรา จุลวรรณา

อาจารย์ภัทรจิต    นิลราช

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. พยาบาล   นักวิชาการสาธารณสุข   ศิษย์เก่า  นักศึกษาพยาบาล   ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน : แนวคิดและการนำไปใช้

๒. อาจารย์พยาบาล   คณะพยาบาลศาสตร์  ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้  ความเข้าใจการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน : แนวคิดและการนำไปใช้   และพร้อมนำความรู้ไปพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีคุณภาพตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของชุมชน