โครงการอบรมเชิงวิชาการ เรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน

 [gmedia id=2]

โครงการอบรมเชิงวิชาการ เรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน

ชื่อหัวหน้าและชื่อผู้ดำเนินการ

๑ ชื่อหัวหน้าส่วนราชการ  นางวงเดือน   ฦๅชา

๒ ชื่อผู้ดำเนินการโครงการ นางสุชัญญา   เบญจวัฒนานนท์ และดร.ภัทรา จุลวรรณา

หลักการและเหตุผล

โรคเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรและเป็นสาเหตุการตาย ๑๐ อันดับแรก โรคเรื้อรังที่พบมาก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคมะเร็ง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการสาธารณสุข วิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยี ตลอดจนบุคลากรทีมสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย  ซึ่งการดูแลที่มีประสิทธิภาพต้องการทีมสหสาขาวิชาชีพ (Interdisciplinary Team) ที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งต้องมีการเพิ่มสมรรถนะและส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และการจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังต่อเนื่องจากสถานบริการสู่ชุมชน

พยาบาลเป็นบุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้จัดการ การดูแลผู้ป่วยซึ่งต้องมีความสามารถในการปฏิบัติพยาบาลในสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ  เป็นผู้นำในการตัดสินใจ รวมทั้งต้องมีการสื่อสารและมีการประสานงานที่ดีเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างมีคุณภาพ

ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลชัยภูมิ  และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดประชุมวิชาการ เรื่อง การเพิ่มสมรรถนะการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อให้พยาบาลและบุคลากรด้านสุขภาพได้เรียนรู้แนวคิด วิธีประยุกต์การส่งเสริมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน และการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน  และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านในวิถีชุมชน ได้อย่างมีคุณภาพ

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการประยุกต์การส่งเสริมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน

๒. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมสมรรถนะผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน

๓. เพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน

๔. เพื่อประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน

วิธีการดำเนินงาน

๑. ประชุมคณะกรรมการ เพื่อวางแผนการทำงานและเตรียมความพร้อมก่อนดำเนิน โครงการ

๒. จัดทำโครงการและขออนุมัติโครงการ

๓. ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง และประชุมชี้แจงการดำเนินการจัดทำโครงการ

๔.จัดประชุมวิชาการตามกำหนดการ

๕. สรุปและประเมินผลการดำเนินโครงการ

 วิทยากร / ผู้สอน

โรงพยาบาลชัยภูมิ อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

               คุณสุชัญญา   เบญจวัฒนานนท์

               คุณกาญจนา    เปสี

โรงพยาบาลภูเขียว        อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

               คุณวรางคณา   เร่งไพบูลย์วงษ์

โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลกุดตุ้ม  อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

คุณอภิญญารักษ์    สมองดี

คณะพยาบาลศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์

ดร.ภัทรา จุลวรรณา

อาจารย์ภัทรจิต    นิลราช

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. พยาบาล   นักวิชาการสาธารณสุข   ศิษย์เก่า  นักศึกษาพยาบาล   ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน : แนวคิดและการนำไปใช้

๒. อาจารย์พยาบาล   คณะพยาบาลศาสตร์  ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้  ความเข้าใจการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน : แนวคิดและการนำไปใช้   และพร้อมนำความรู้ไปพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีคุณภาพตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของชุมชน